วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

เทคโนโลยีสารสนเทศ

ปัจจุบันโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการใช้งานในปัจจุบันและอนาคต

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงศึกษากฎเกณฑ์ของสิ่งต่างๆ และนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์
สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ได้มาจากข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล ด้วยกระบวนการที่เหมาะสม
เมื่อรวมคำว่า เทคโนโลยี กับ สารสนเทศ เข้าด้วยกัน เป็น เทคโนโลยีสารสนเทศ จึงหมายถึง เทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้จัดการสารสนเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผล การแสดงผล การพิมพ์ การสร้างรายงาน และการสื่อสารข้อมูล ฯลฯ โดยเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจจำแนกตามลักษณะการใช้งานได้ ดังนี้
1. เทคโนโลยีที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เช่น ดาวเทียมถ่ายภาพบรรยากาศ กล้องถ่ายภาพดิจิตอล กล้องถ่ายภาพวีดีทัศน์ เครื่องอ่านรหัสแท่ง เครื่องอ่านเครื่องหมายบนกระดาษ ฯลฯ
2. เทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล เช่น เทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็ก (Hard Disk , Floppy Disk) จานแสง (CD-ROM) บัตรเอทีเอ็ม ฯลฯ
3. เทคโนโลยีที่ใช้ในการประมวลลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ เช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทางด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ฯลฯ
4. เทคโนโลยีที่ใช้ในการแสดงผลข้อมูลหรือสารสนเทศ เช่น เครื่องพิมพ์ จอภาพ เครื่องวาดภาพ ฯลฯ
5. เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดทำสำเนาสารสนเทศ เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ ฯลฯ
6. เทคโนโลยีสำหรับถ่ายทอดสื่อสารข้อมูลและสารสนเทศ เช่น อุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โทรเลข โทรสาร ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ดาวเทียม ฯลฯ

เทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วย เทคโนโลยีที่สำคัญ 2 สาขา คือ
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการจัดการระบบสารสนเทศ คือ ช่วยในการจัดเก็บ บันทึก และประมวลผลข้อมูล ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะอาศัยเทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์สำหรับรับข้อมูลและแสดงผล
เทคโนโลยีโทรคมนาคม
เป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับส่งผลลัพธ์ที่ได้จากคอมพิวเตอร์ไปให้ยังผู้ใช้ที่อยู่ห่างไกลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องครบถ้วน และทันต่อเหตุการณ์ เทคโนโลยีโทรคมนาคม ได้แก่ โทรศัพท์ โทรทัศน์ วิทยุ รวมถึงเทคโนโลยีเครือข่าย คอมพิวเตอร์

บทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสังคมความเป็นอยู่ของมนุษย์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ความเจริญก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว ชีวิตความเป็นอยู่จึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสังคมสารสนเทศ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมาก การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลข้อมูลเป็นไปอย่างกว้างขวาง มีการส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกันเป็นจำนวนมาก เกิดการประยุกต์งานด้านต่าง ๆ
- องค์กรภาครัฐและเอกชน ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสร้างระบบสารสนเทศในหน่วยงาน
- วงการธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานเกิดความถูกต้อง มีประสิทธิภาพ
- ในชีวิตประจำวัน ภายในครอบครัวก็มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันมากขึ้น เช่น โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์

ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
- เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
คอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารเข้ามาช่วยทำให้เกิดระบอัตโนมัติขึ้น เช่น เราสามารถฝากถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็มได้ตลอดเวลา ธนาคารสามารถให้บริการได้ดีขึ้น ทำให้การบริการโดยรวมมีประสิทธิภาพ ในระบบจัดการทุกแห่งต้องใช้ข้อมูลเพื่อการดำเนินการและการตัดสินใจ ดังนั้นระบบธุรกิจจึงใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยในการทำงาน เช่น ใช้ในระบบจัดเก็บเงินสด จองตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น
- เทคโนโลยีสารสนเทศเปลี่ยนรูปแบบการบริการเป็นแบบกระจาย
เมื่อมีการพัฒนาระบบข้อมูล และการใช้ข้อมูลได้ดี การบริการต่างๆ จึงเน้นรูปแบบการบริการแบบกระจาย ผู้ใช้สามารถสั่งซื้อสินค้าจากที่บ้าน สามารถสอบถามข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ นิสิตนักศึกษาบางมหาวิทยาลัยสามารถใช้คอมพิวเตอร์สอบถามผลสอบจากที่บ้านได้
- เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับการดำเนินการในหน่วยงานต่างๆ
ปัจจุบันทุกหน่วยงานต่างพัฒนาระบบรวบรวมจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในองค์การ เช่น ระบบเวชระเบียนในโรงพยาบาล ระบบการจัดเก็บข้อมูลภาษี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในองค์การทุกระดับเห็นความสำคัญที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้
- เทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวข้องกับคนทุกระดับ
พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากการพิมพ์รายงานด้วยคอมพิวเตอร์ การใช้ตารางคำนวณ และใช้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมแบบต่างๆ เป็นต้น
- เทคโนโลยีสารสนเทศมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสังคมอย่างมาก โดยรวมกล่าวได้ในด้านต่างๆ ดังนี้
- สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สภาพความเป็นอยู่ของสังคมเมือง มีการพัฒนาใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ื เพื่ติดต่อสื่อสารให้สะดวกขึ้น มีการประยุกต์มาใช้กับเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้าน เช่น ใช้ควบคุมเครื่องปรับอากาศ ใช้ควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น
- เสริมสร้างความเท่าเทียมในสังคมและการกระจายโอกาส
เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการกระจายไปทั่วทุกหนแห่ง แม้แต่ถิ่นทุรกันดาร ทำให้มีการกระจากโอกาสการเรียนรู้ มีการใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกล การกระจายการเรียนรู้ไปยังถิ่นห่างไกล นอกจากนี้ในปัจจุบันมีความพยายามที่ใช้ระบบการรักษาพยาลาลผ่านเครือข่ายสื่อสาร
- สารสนเทศกับการเรียนการสอนในโรงเรียน
การเรียนการสอนในโรงเรียนมีการนำคอมพิวเตอร์และเครื่องมือประกอบช่วยในการเรียนรู้ เช่น วีดิทัศน์ เครื่องฉายภาพ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน คอมพิวเตอร์ช่วยจัดการศึกษา จัดตารางสอน คำนวณระดับคะแนน จัดชั้นเรียน ทำรายงานเพื่อให้ผู้บริหารได้ทราบถึงปัญหาและการแก้ปัญหาในโรงเรียน และในปัจจุบันได้มีการเรียนการสอนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียนมากขึ้น
- เทคโนโลยีสารสนเทศกับสิ่งแวดล้อม
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่าง จำเป็นต้องใช้สารสนเทศ เช่น การดูแลรักษาป่า จำเป็นต้องใช้ข้อมูล มีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม การติดตามข้อมูลสภาพอากาศ การพยากรณ์อากาศ การจำลองรูปแบบสภาวะสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับปรุงแก้ไข การเก็บรวบรวมข้อมูลคุณภาพน้ำในแม่น้ำต่างๆ ตลอดจนการตรวจวัดมลภาวะ
- เทคโนโลยีสารสนเทศกับการป้องกันประเทศ
กิจการทางด้านการทหารมีการใช้เทคโนโลยี อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และระบบควบคุม มีการใช้ระบบป้องกันภัย ระบบเฝ้าระวังที่มีคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงาน
- การผลิตในอุตสาหกรรม และการพาณิชยกรรม
การแข่งขันทางด้านการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหาวิธีการในการผลิตให้ได้มาก ราคาถูกลง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมาก มีการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการบริหาร และการจัดการ การดำเนินการและยังรวมไปถึงการใช้บริการกับลูกค้า เพื่อให้ซื้อสินค้าได้สะดวกขึ้น

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
1. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการศึกษา
- การเรียนรู้แบบออนไลน์ หรือ E-learning เป็นการศึกษาเรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรืออินทราเน็ต ซึ่งเป็นการเรียนรุ้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนจะได้เรียนตามความสามารถและความสนใจของตน โดยเนื้อหาของบทเรียนซึ่งประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่านเว็บเบราว์เซอร์ โดยผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยอาศัยเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย สำหรับทุกคนที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา และทุกสถานที่
- บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction - CAI) จะเสนอสารสนเทศที่ได้ผ่านกระบวนการสร้างและพิจารณามาเป็นอย่างดี โดยมีเนื้อหาวิชาหรือสารสนเทศ แบบฝึกหัด การทดสอบและการให้ข้อมูลป้อนกลับให้ผู้เรียนได้ตอบสนองต่อบทเรียนได้ตามระดับความสามารถของตนเอง เนื้อหาวิชาที่นำเสนอจะอยู่ในรูปมัลติมีเดีย ซึ่งประกอบด้วย อักษร รูปภาพ เสียง และ/หรือ ทั้งภาพและเสียง
- หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-books) ที่สามารถอ่านได้ทางอินเทอร์เน็ต สำหรับเครื่องมือที่จำเป็นต้องมีในการอ่านหนังสือประเภทนี้ก็คือฮาร์ดแวร์ประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาอื่นๆ พร้อมทั้งติดตั้งระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้อ่านข้อความต่างๆ
2. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสาขาธุรกิจ พาณิชย์และสำนักงาน
- E – Commerce : Electronic Commerce หรือการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง การทำธุรกรรรมในเชิงธุรกิจทุกประเภทที่กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมทั้งกิจกรรมการซื้อขาย การแลกเปลี่ยนสินค้าและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การส่งสินค้า การชำระเงิน และการบริการด้านข้อมูล เป็นต้น E-commerce นั้นสามารถให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว และไม่จำกัดขอบเขตของผู้ใช้บริการและระยะเวลาทำการของหน่วยงาน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง สื่อที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือหลักในการปฏิบัติงานและติดต่อสื่อสารข้อมูล ใน E-commerce สื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อเคเบิลทีวี เครื่องโทรสาร โทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่อง ATM ระบบการชำระเงินและโอนเงินอัตโนมัติ รวมทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- E-business เป็นธุรกิจเชิงอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างกว่า E-commerce เนื่องจากเป็นการพิจารณาถึงองค์ประกอบทุกส่วนของการดำเนินธุรกิจ มิได้พิจารณาเพียงเฉพาะกิจกรรมการซื้อ-ขายเท่านั้น เป็นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจผนวกกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ และปรับปรุงธุรกิจให้มีความเป็นระบบ สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจด้วยการดำเนินธุรกิจให้กลายเป็นรูปแบบ Online และครอบคลุมได้ทั่วโลก
- การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange: EDI) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการรับ-ส่งเอกสารจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งโดยส่งผ่านเครือข่าย เช่น โทรศัพท์ สายเคเบิล ดาวเทียม เป็นต้น แทนการส่งเอกสารโดยพนักงานส่งสารหรือไปรษณีย์
3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในอุตสาหกรรมและการผลิต
- โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาช่วยจัดการงานด้านการผลิต การสั่งซื้อ การพัสดุ การเงิน บุคลากร และงานด้านอื่นๆ ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการพิมพ์ อุตสาหกรรมประเภทนี้ ใช้ระบบการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Publishing) ในการจัดเตรียมต้นฉบับ วิดีโอเท็กซ์ วัสดุย่อส่วน และเทเลเท็กซ์ได้ รวมทั้งการพิมพ์ภาพโดยใช้เทอร์มินอลนำเสนอภาพ (Visual Display Terminal) ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ มีการใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบรถยนต์ ปฏิบัติการการผลิต เช่น การพ่นสี การเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ฯลฯ การขับเคลื่อน การบริการ และการขาย รวมทั้งออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถปฏิบัติงานในโรงงานได้ในรูปแบบหุ่นยนต์
4. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสาธารณสุขและการแพทย์
- ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นการนำเอาความก้าวหน้าด้านการสื่อสารโทรคมนาคมมาประยุกต์ใช้กับงานทางการแพทย์ โดยการส่งสัญญาณผ่านสื่อซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณดาวเทียม (Satellite) หรือใยแก้วนำแสง (Fiber optic) แล้วแต่กรณีควบคู่ไปกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แพทย์ต้นทางและปลายทางสามารถติดต่อกันด้วยภาพเคลื่อนไหวและเสียง ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลคนไข้ระหว่างกันได้
- ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Medical Consultation) เป็นระบบการปรึกษาระหว่างโรงพยาบาลกับโรงพยาบาล
- ระบบเชื่อมเครือข่ายข้อมูลและโทรศัพท์ (Data and Voice Network) เป็นระบบการใช้งานเชื่อมต่อจากโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นจุดติดตั้งของโครงการฯ มายังสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถใช้บริการทางด้านเครือข่ายข้อมูลต่างๆ
5. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสารและโทรคมนาคม
- โครงข่ายบริการสื่อสารร่วมระบบดิจิทัล (Integrated Service Digital Network : ISDN) เป็นระบบโครงข่ายโทรคมนคมความเร็วสูงในระบบดิจิทัลที่สามารถส่งทั้งสัญญาณ เสียง และข้อมูลต่างๆ ร่วมไปในสายเส้นเดียวกัน และสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายโทรศัพท์ในปัจจุบัน รวมทั้งการเชื่อมต่อกับโครงข่ายส่วนบุคคลอื่น
- โทรสารหรือแฟ็กซ์ (Fax) เป็นวิวัฒนาการด้านอุปกรณ์การสื่อสารข้อมูล ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อส่งผ่านสารสนเทศจากต้นแหล่งไปยังผู้รับปลายทาง โดยใช้ความเร็วในการส่งข้อมูลสูง ระบบการทำงานของเครื่องโทรสารเป็นกระบวนการที่เครื่องส่งฉายแสงไปที่เอกสาร รูปถ่าย ภาพเขียน หรือสัญลักษณ์ต่างๆ อันเป็นต้นฉบับ เพื่อเปลี่ยนภาพหรืออักษรเป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วส่งไปตามช่องทางคมนาคมต่างๆ เมื่อเครื่องรับปลายทางได้รับสัญญาณดังกล่าว ก็จะเปลี่ยนสัญญาณนั้นให้ปรากฏเป็นภาพหรือข้อความตรงตามต้นฉบับ
- โทรภาพสารหรือเทเลเท็กซ์ เป็นระบบรับ-ส่งสารสนเทศผ่านคลื่นวิทยุโทรทัศน์ ส่งออกอากาศได้ในเวลาเดียวกันกับที่มีการออกอากาศรายการโทรทัศน์ตามปรกติ สารสนเทศจะถูกส่งออกอากาศเป็นหน้าๆ เหมือนหน้าหนังสือทั่วไป ผู้ชมสามารถใช้การควบคุมระยะไกล เรียกสารสนเทศนั้นออกมาดูได้ตามต้องการ หรือเลือกดูเฉพาะข้อความที่ต้องการและหยุดดูได้นานตามต้องการ
- การประชุมทางไกล (Teleconference) เป็นรูปแบบการสื่อสารหรือการประชุมระหว่างคนหลายๆ คน โดยไม่ต้องอยู่ต่อหน้ากัน และใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสาร
- ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic mail : E-mail)
- ดาวเทียม (Satellite)
6. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในหน่วยงานราชการต่างๆ
- สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Technology Services - GITS) ลักษณะงานของสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ จะให้บริการเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ เพื่อตอบสนองการบริหารงานสำหรับหน่วยงานของภาครัฐได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง ส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงานอันนำไปสู่การเป็น E-government และเป็นศูนย์กลางส่งเสริมให้เกิดระบบการเชื่อมโยงข่าวสารระหว่างภาครัฐและประชาชน
- สำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation : OA) สำนักงานอัตโนมัติที่หน่วยงานของรัฐจัดทำขึ้นมีชื่อว่า IT Model Office เป็นโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายพื้นฐานของภาครัฐ ในรูปของสำนักงานอัตโนมัติ เช่น งานสารบรรณ งานจัดทำเอกสารและจัดส่งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ งานแฟ้มเอกสาร งานบันทึกการนัดหมายผู้บริหาร
- อินเทอร์เน็ตตำบล เป็นการวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ตำบลต่างๆ ทั่วประเทศสามารถเข้าใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านต่างๆ เช่น หน่วยงานของรัฐ และองค์กรต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในการจัดทำและใช้ประโยชน์จากระบบอินเทอร์เน็ตตำบล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่อยู่ ณ ตำบลและใกล้ชิดกับประชาชนก็จะมีความสำคัญและความรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูล รวมทั้งให้บริการแก่กลุ่มชนต่างๆ
7. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในด้านความมั่นคงของชาติและทางทหาร
- ด้านกฎหมายและการปกครอง ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสรุปคดีทุกคดีว่าใครฟ้องใคร เรื่องอะไร ศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ตัดสินว่าอย่างไร เข้าคอมพิวเตอร์ทั้งหมด หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะช่วยงานได้หลายอย่าง เช่น ต้องการทราบว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนเหมือนหรือแตกต่างกับฉบับไหนมากน้อยเท่าใด ก็ให้คอมพิวเตอร์ค้นหา และวิเคราะห์เปรียบเทียบพิมพ์ลงได้ หรือต้องการทราบว่าคดีแบบไหนเคยมีฟ้องร้องแล้วศาลตัดสินอย่างไร ก็ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยหาให้ก็จะได้คำตอบภายในเวลาไม่กี่นาที
- ด้านรัฐสภา เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุน และการดำเนินบทบาทด้านการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นอย่างมากต่องานรัฐสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนิติบัญญัติ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาได้มีการปรับปรุงระบบงานใหม่ พร้อมดึงเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกิจการงานสภา ศึกษาวิเคราะห์ระบบงานรัฐสภาทั้งหมดและจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ ขึ้นมากำกับดูแลงานด้านคอมพิวเตอร์ พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลรัฐสภาขึ้น
- ด้านการทหารและกองบัญชาการทหารสูงสุด การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในด้านการสื่อสาร และภูมิศาสตร์ โดยมีการนำดาวเทียมทหารมาใช้เพื่อกิจการด้านความมั่นคงทางทหาร เพราะสามารถส่งข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นความลับเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะด้านการทหารซึ่งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ และการถ่ายภาพภูมิศาสตร์ จำลองลักษณะภูมิศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อความสะดวก ในการจัดทำยุทธภูมิและการวางแผนป้องกันประเทศ

ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคต
1. ความต้องการทางธุรกิจ
ธุรกิจต้องการผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนทำงานได้เต็มที่ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย มีบริการที่ดีกว่า ช่วยในการตัดสินใจด้านการบริการที่ดีกว่า
2. ความก้าวหน้าหรือการค้นพบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ
การค้นพบและพัฒนาที่สำคัญของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีผลต่อความก้าวหน้าและงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมาก เช่น การนำเอาระบบเครือข่ายและ อินเทอร์เน็ตมาใช้ในองค์กรซึ่งเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ การสร้างซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการตัดสินใจและสำหรับช่วยงานในสำนักงาน
3. ผลิตภัณฑ์ บุคลากรและการจัดการ
การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างมากมาย ทำให้มีการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ดังนั้นการบริการและการจัดการเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดนนั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมขององค์กรและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงด้วย

เทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคต
1. คอมพิวเตอร์ (Computer) ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาไปจากยุคแรกที่เครื่องมีขนาดใหญ่ทำงานได้ช้า ความสามารถต่ำ และใช้พลังงานสูง เป็นการใช้เทคโนโลยีวงจรรวมขนาดใหญ่ (Very Large Scale Integrated Circuit : VLSI) ในการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ (Micro Processor) ทำให้ประสิทธิภาพของส่วนประมวลผลของเครื่องพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาหน่วยความจำให้มี ประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่มีราคาถูกลง ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปัจจุบัน โดยที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในขณะที่มีความสามารถเท่าเทียมหรือมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในสมัยก่อน ตลอดจนการนำคอมพิวเตอร์ชนิดลดชุดคำสั่ง (Reduced Instruction Set Computer) หรือ RISC มาใช้ในการออกแบบหน่วยประเมินผล ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้เร็วขึ้นโดยใช้คำสั่งพื้นฐานง่าย ๆ นอกจากนี้พัฒนาการและการประยุกต์ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ส่งผลให้เครื่องคอมพิวเตอร์มีการประมวลผลตามหลักเหตุผลของมนุษย์หรือระบบปัญญาประดิษฐ์
2. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI เป็นการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้มีความสามารถที่จะคิดแก้ปัญหาและให้เหตุผลได้เหมือนอย่างการใช้ภูมิปัญญาของมนุษย์จริง ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ในหลายสาขาวิชาได้ศึกษาและทดลองที่จะพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานที่มีเหตุผล โดยการเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งความรู้ทางด้านนี้ถ้าได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ อย่างมากมาย เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างผู้เชี่ยวชาญ และหุ่นยนต์ (Robotics) เป็นการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ให้สามารถปฏิบัติงานและใช้ทักษะการเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับการทำงานของมนุษย์ เป็นต้น
3. ระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหาร (Executive Information System) หรือ EIS เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศที่สนับสนุนผู้บริหารในงานระดับวางแผนนโยบายและกลยุทธ์ขององค์การโดยที่ EIS จะถูกนำมาให้คำแนะนำผู้บริหารในการตัดสินใจเมื่อประสบปัญหาแบบไม่มีโครงสร้างหรือกึ่งโครงสร้าง โดย EIS เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่พิเศษของผู้บริหารในด้านต่าง ๆ เช่น สถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์การ รวมทั้งสถานะของคู่แข่งขันด้วย โดยที่ระบบจะต้องมีความละเอียดอ่อนตลอดจนง่ายต่อการใช้งาน เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากไม่เคยชินกับการติดต่อและสั่งงานโดยตรงกับระบบคอมพิวเตอร์
4. การจดจำเสียง (Voice Recognition) เป็นความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้คอมพิวเตอร์จดจำเสียงของผู้ใช้ ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีสาขานี้ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการ ถ้าในอนาคตนักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการนำความรู้ต่าง ๆ มาใช้สร้างระบบการจดจำเสียง ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลแก่การใช้งานคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยที่ผู้ใช้จะสามารถออกคำสั่งและตอบโต้กับคอมพิวเตอร์แทนการกดแป้นพิมพ์ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ไม่เคยชินกับการใช้คอมพิวเตอร์ให้สามารถปรับตัวเข้ากับระบบได้ง่าย เช่น ระบบสารสนเทศสำหรับผู้บริหารระดับสูง การสั่งงานระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ และระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและขยายคุณค่าเพิ่มของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อธุรกิจ
5. การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Data Interchange) หรือ EDI เป็นการส่งข้อมูลหรือข่าวสารจากระบบคอมพิวเตอร์หนึ่งไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์อื่นโดยผ่านทางระบบสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การส่งคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อไปยังผู้ขายโดยตรง ปัจจุบันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะช่วงลดระยะเวลาในการทำงานของแต่ละองค์การลง โดยองค์การจะสามารถส่งและรับสารสนเทศในการดำเนินธุรกิจ เช่น ใบสั่งซื้อและใบตอบรับผ่านระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่มีอยู่ ทำให้ทั้งผู้ส่งและผู้รับไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
6. เส้นใยแก้วนำแสง (Fiber Optics) เป็นตัวกลางที่สามารถส่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยการส่งสัญญาณแสงผ่านเส้นใยแก้วนำแสงที่มัดรวมกัน การนำเส้นใยแก้วนำแสงมาใช้ในการสื่อสารก่อให้เกิดแนวความคิดเกี่ยวกับ “ ทางด่วนข้อมูล (Information Superhighway)” ที่จะเชื่อมโยงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีเส้นใยแก้วนำแสงได้ส่งผลกระทบต่อวงการสื่อสารมวลชนและการค้าขายสินค้าผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์
7. อินเทอร์เน็ต (Internet) เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงไปทั่วโลก มีผู้ใช้งานหลายล้านคน และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่สมาชิกสามารถติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนค้นหาข้อมูลจากห้องสมุดต่าง ๆ ได้ ในปัจจุบันได้มีหลายสถาบันในประเทศไทยที่เชื่อมระบบคอมพิวเตอร์กับเครือข่ายนี้ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นต้น
8. ระบบเครือข่าย (Networking System) โดยเฉพาะระบบเครือข่ายเฉพาะพื้นที่ (Local Area Network : LAN) เป็นระบบสื่อสารเครือข่ายที่ใช้ในระยะทางที่กำหนด ส่วนใหญ่จะภายในอาคารหรือในหน่วยงาน LAN จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้สูงขึ้น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การใช้ข้อมูลร่วมกัน และการเพิ่มความเร็วในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ระบบเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังผลักดันให้เกิดการกระจายความรับผิดชอบในการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศไปยังผู้ใช้มากกว่าในอดีต
9. การประชุมทางไกล (Teleconference) เป็นการนำเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายโทรทัศน์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคมผสมผสาน เพื่อให้สนับสนุนในการประชุมมีประสิทธิภาพ โดยผู้นำเข้าร่วมประชุมไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในห้องประชุมและพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเดินทาง โดยเฉพาะในสภาวะการจราจรที่ติดขัด ตลอดจนผู้เข้าประชุมอยู่ในเขตที่ห่างไกลกันมาก
10. โทรทัศน์ตามสายและผ่านดาวเทียม (Cable and Sattleite TV) การส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านสื่อต่าง ๆ ไปยังผู้ชม จะมีผลทำให้ข้อมูลข่าวสารสามารถแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น โดยที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ได้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ชมรายการมีทางเลือกมากขึ้นและสามารถตัดสินใจในทางเลือกต่าง ๆ ได้เหมาะสมขึ้น
11. เทคโนโลยีมัลติมีเดีย (Multimedia Technology) เป็นการนำเอาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาจัดเก็บข้อมูลหรือข่าวสารในลักษณะที่แตกต่างกันทั้งรูปภาพ ข้อความ เสียง โดยสามารถเรียกกลับมาใช้เป็นภาพเคลื่อนไหวได้ และยังสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ด้วยการประยุกต์เข้ากับความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ เช่น หน่วยความจำแบบอ่านอย่างเดียวที่บันทึกในแผ่นดิสก์ (CD-ROM) จอภาพที่มีความละเอียดสูง (High resolution) เข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อจัดเก็บและนำเสนอข้อมูล ภาพ และเสียงที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีมัลติมีเดียเป็นเทคโนโลยีที่ตื่นตัวและได้รับความสนใจจากบุคคลหลายกลุ่ม เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา โฆษณา และบันเทิงเป็นอย่างมาก
12. การใช้คอมพิวเตอร์ในการฝึกอบรม (Computer base training) เป็นการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ หรือการนำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยในด้านการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน (Computer Assisted Instruction) หรือ CAI” การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการสอนเปิดช่องทางใหม่ในการเรียนรู้ โดยส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ ตลอดจนปรัชญาการเรียนรู้ด้วยตนเอง
13. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ (Computer Aided Design) หรือ CAD เป็นการนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบข้อมูลเข้ามาช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งรูปแบบหีบห่อของผลิตภัณฑ์หรือการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยทางด้านการออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมให้มีความเหมาะสมกับความต้องการและความเป็นจริง ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในการออกแบบ โดยเฉพาะในเรื่องของเวลา การแก้ไข และการจัดเก็บแบบ
14. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต (Computer Aided Manufacturing) หรือ CAM เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์จะมีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือได้ในการทำงานที่ซ้ำกัน ตลอดจนสามารถตรวจสอบรายละเอียดและข้อผิดพลาดของผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยประหยัดระยะเวลาและแรงงาน ประการสำคัญ ช่วยให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอตามที่กำหนด
15. ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) หรือ GIS เป็นการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์ทางด้านรูปภาพ (Graphics) และข้อมูลทางภูมิศาสตร์มาจัดทำแผนที่ในบริเวณที่สนใจ GIS สามารถนำมาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เช่น การวางแผนยุทธศาสตร์ การบริหารการขนส่ง การสำรวจและวางแผนป้องกันภัยธรรมชาติ การช่วยเหลือและกู้ภัย เป็นต้น
16.Grid Computing Grid หมายถึง “เครือข่ายที่เชื่อมโยงกันและกระจายทรัพยากรให้กัน” ซึ่ง Grid Computing คือเครือข่ายของทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันหมดและจะกระจายทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ให้กัน ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะในด้านการประมวลผล ความจุ หรือ สมรรถนะในการถ่ายโอนข้อมูล
17. RFID (Radio Frequency Identification) เป็นระบบที่มีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (RFID Tag) ที่สามารถอ่านค่าได้โดยผ่านคลื่นวิทยุจากระยะห่าง เพื่อตรวจ ติดตามและบันทึกข้อมูลที่ติดอยู่กับป้าย ซึ่งนำไปฝังไว้ในหรือติดอยู่กับวัตถุต่างๆเช่น ผลิตภัณฑ์ กล่อง หรือสิ่งของใดๆ สามารถติดตามข้อมูลของวัตถุ 1 ชิ้นว่า คืออะไร ผลิตที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต ผลิตอย่างไร ผลิตวันไหน และเมื่อไร ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนกี่ชิ้น และแต่ละชิ้นมาจากที่ไหน รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้งของวัตถุนั้นๆ ในปัจจุปันว่าอยู่ส่วนใดในโลก โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสัมผัส หรือต้องเห็นวัตถุนั้นๆ ก่อน ทำงานโดยใช้เครื่องอ่านที่สื่อสารกับป้ายด้วยคลื่นวิทยุในการอ่านและเขียนข้อมูล

ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนทางของเทคโนโลยีสารสนเทศ
1. ผลกระทบทางการศึกษา
- การเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีผลให้ผู้เรียนมีการรับรู้จากโลกภายนอกมากขึ้น
- เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งของข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาลจากทุกหนทุกแห่งทั่วโลก โดยไม่ว่าจะต้องการค้นหาข้อมูลในลักษณะใด จากแหล่งใด ก็สามารถใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการค้นหา และสามารถนำข้อมูลที่ต้องการมาได้โดยง่าย
- การเรียนการสอนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีผลต่อทักษะการคิดอย่างมีระบบ โดยเฉพาะทักษะการคิดวิเคราะห์ และการคิดแก้ปัญหาอย่างอิสระ
2. ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ
- เทคโนโลยีสารสนเทศอาจช่วยลดช่อง ว่างทางอำนาจระหว่าง รัฐบาลกับประชาชน และลดโอกาสที่รัฐจะใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมแก่ประชาชน
- เทคโนโลยีสารสนเทศจะทำให้ช่องว่างระหว่างคนมั่งมี และคนยากจนขยายเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนมั่งมีสามารถครอบครอง และมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่า
3. ผลกระทบทางด้านกฎหมาย ศีลธรรมและจริยธรรม
เทคโนโลยีสารสนเทศมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การรับวัฒนธรรมที่แฝงเข้ามากับแหล่งข่าวสารข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรมของมนุษย์ โดยเฉพาะบนเครือข่ายสารสนเทศซึ่งเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันทุกมุมโลก การเปิดรับข่าวสารที่มาจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ และทัศนคติส่วนบุคคล การรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยเฉพาะ พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และมีแนวโน้มทำให้เกิดอาชญากรรมปัญหาทางศีลธรรมและจริยธรรม เช่น อาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต การพนันบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การแพร่ภาพอนาจารบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

แนวโน้มของเทคโนโลยีการสารสนเทศในอนาคต
1.ด้านคอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้ผู้ใช้สามารถใช้หรือโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์ได้เปรียบเสมือนกับกำลังทำงานกับมนุษย์ด้วยกัน คอมพิวเตอร์และ User Interface จะมีความคล้ายคลึงและความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น
2.ด้านระบบเครือข่าย
ในอนาคต ระบบเครือข่ายที่มีความเร็วสูง และ อินเทอร์เน็ตจะถูกนำไปใช้ในทุกที่ทั้งในองค์กร/สถาบันต่าง ๆ หรือแม้แต่ที่บ้าน และมีผลต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของมนุษย์อย่างมากระบบเครือข่ายที่มีความเร็วสูง และอินเทอร์เน็ตจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กร
3.ด้านเวปไซต์
ปัจจุบันเวปไซต์คือแหล่งค้นหาและเผยแพร่ข้อมูล/ข่าวสารที่ใหญ่ที่สุด ในอนาคตนอกจากคุณสมบัติข้างต้น เวปไซต์จะมีความฉลาด และมีความสามารถสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
4.ด้านอุปกรณ์
ในอนาคต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ PDA และอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านจะมีความฉลาดมากยิ่งขึ้น มีขนาดเล็กลงและพกพาได้สะดวก
5.ด้านซอฟต์แวร์
ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะมีความสามารถมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งซอฟต์แวร์สามารถที่จะคิดด้วยตัวเองได้
6.ด้านมัลติมีเดีย
- เกมส์คอมพิวเตอร์ ตัวละครในเกมส์ และตัวอักษรอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Characters) ที่ปรากฎในเกมส์ออนไลน์ และ แชทรูม จะแสดงเหมือนมีชีวิตและเหมือนจริงมากขึ้น จนกระทั่งผู้ใช้อาจจะแยกไม่ออกว่าสิ่งที่เป็นบนจอคอมพิวเตอร์คือของจริงหรือเป็นเพียงสิ่งที่ประดิษฐ์ขี้นมา
- Digital Video จะเป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างมาก
- อินเทอร์เน็ตจะเป็นแหล่งให้ความบันเทิงที่สำคัญแห่งใหม่ที่ให้ความบันเทิงแก่มนุษย์ แทนที่ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่าง ๆ
http://ecurriculum.mv.ac.th/techno/library/computer/it/it10/C1.html

.........................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น